เรามาเดินทางขึ้นเหนือกันอีกครั้ง หลังจากลัดเลาะล่องใต้ ย้ายไปตะวันตก วกมาตะวันออก และขอตัวลงจอดที่ “บ้านสันทางหลวง” จังหวัดเชียงรายกันนะเจ้า ที่นี่เขาโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรม ซึ่ง “ไท-ยอง” ก็คือ “ชาวไทลื้อ” ที่อยู่ในเมืองยองนั่นเอง หลังจากรอนแรมออกจากพม่าและสิบสองปันนาในจีน สู่การพึ่งพระบรมโพธิสมภารใต้ฟ้าเมืองสยามเรานี้ ทำให้วิถีของพวกเขาที่ติดตัวมา กลายเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของชาวไทยเชื้อสายลื้อ ที่ลือชื่อไทยองบ้านสันทางหลวงนั่นเอง
คนไทยอง บ้านสันทางหลวง ตำบลจันหว้าใต้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย นอกจากจะนำศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทลื้อดั้งเดิมมาสืบทอดกันแล้ว เอกลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกถึงชาติพันธุ์ได้อย่างดี ก็คือ การแต่งกาย ภาษาพูด อาหารและความเป็นอยู่ที่สืบทอดกันมา แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือความเป็นผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์และหวงแหนคนชาติพันธุ์เดียวกัน รวมถึงต้องการสืบทอดความงดงามแห่งเชื้อชาติให้อยู่ยืนยงอย่าง แม่หลวงสังเวียน ปรารมภ์ ผู้ใหญ่บ้านสันทางหลวง หมู่ที่ 12 ที่ได้จุดประกายให้คนไทยองที่นี่ตระหนักถึงคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเก่า ด้วยการปลูกผักไว้กินเอง ทำให้ห่างไกลโรค มีพื้นฐานความรุ่มรวยด้วยน้ำใจเหมือนสมัยอดีตที่เคยร่วมกันแบ่งปัน นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไม เมื่อคุณมาบ้านสันทางหลวงแล้ว คุณจะได้เห็นวิถีทองแห่งการดำรงชีวิต

แหม...เปิดหัวเรื่องก็วิชาการกันเลยทีเดียว อ๊ะๆๆ อย่าเพิ่งเปลี่ยนช่องไปไหนค่ะ คุณกำลังรับชมช่องท่องเที่ยวที่ดีที่สุด (ของเรานะคะ 55) จาก ธ.ก.ส. channel โดยทีมงานทัวร์วิถีไทยกันก่อนค่ะ งานนี้เขาอลังการ ดาวลูกไก่จริงจริ๊ง ^^ หลังจากทีมงานได้ลงพื้นที่ก็อวดวิถียองกันผ่านสื่อโซเชียลแบบ Live สด ปรากฏให้เห็นท่วงทำนองวิถียองแบบฉบับเมืองไทย ทำเอาสมาชิกเฟซบุ๊คทัวร์วิถีไทย กดไลค์กันรัวๆ เพราะดูกันถึงเนื้อถึงตัว ประหนึ่งเข้าไปอยู่ในงานนั้นเองเลยค่ะคุณผู้ชมๆๆๆๆๆ สำหรับใครที่ยังไม่เคยไปบ้านสันทางหลวง ไม่ต้องเสียใจค่ะ ติดตามทีมงานทัวร์วิถีไทยและภาพกิจกรรมได้ที่ https://web.facebook.com/tourvtthaidotcom/

และแล้วก็ได้เวลาชมของดีบ้านสันทางหลวงกันเสียที หลังจากเดินทางมาไกล หลายคนคงหิว แต่อดใจอีกนิดค่ะ ค่ำนี้ชุมชนบ้านสันทางหลวงมีกิจกรรมดีๆ ให้ร่วมสนุก มาพร้อมกับอาหารถิ่น “ขันโตก” ลำขนาดทั้งโชว์ทั้งชิมกันเลยนะเจ้า

ว่าแล้วทีมงานทัวร์วิถีไทยก็แปลงกายเป็นชาวไทยองกันสักกำเน้อ การแต่งกายของไทยอง จะประกอบไปด้วยผ้าโพกหัว (เคียนหัว) ชายสวมเสื้อแขนยาว นุ่งกางเกงหม้อห้อม หญิงสวมเสื้อผ้าฝ้ายหรือเสื้อปั๊ด (เสื้อเฉียงข้างผูกเชือกที่เอว) นุ่งผ้าซิ่นซิ่นก่าน พร้อมสะพายย่าม (งามปะล้ำปะเหลือไหมล่ะ) เดินร่วมขบวนแห่พร้อมกลองฉิ่งฉาบ เพื่อเตรียมเข้าสู่การต้อนรับโดยการล้างมือจากกลุ่มเด็กๆ ที่แต่งกายงดงามในชุดชาวยอง ไม่ผิดหวังจริงๆ ค่ะ

หลังจากผ่านด่านล้างมือกับล่ะอ่อนกันแล้ว พวกเราก็ร่วมวงขันโตกรับประทานอาหารเมืองกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าวนึ่งห่อใบตอง ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ข้าวจิ้น (ข้าวคลุกเลือดหมูนึ่ง รับประทานพร้อมเครื่องเคียง) น้ำพริกน้ำผัก (หรือผักกาดส้ม หรือกิมจิไทยสไตล์บ้านสันทางหลวง) ที่จัดมาอย่างเป็นระเบียบ สวยงาม น่ารับประทานแล้ว เรายังได้ชมการแสดงของชาวไทยองระหว่างร่วมรับประทานขันโตกไปด้วย สำหรับค่ำคืนนี้เราได้รับชมกัน 3 ชุดการแสดง ได้แก่ 1) ฟ้อนเชียงฮาย เป็นการฟ้อนเพื่อต้อนรับผู้มาเยือน 2) ฟ้อนไทยเซิ้ง เป็นการฟ้อนของไทลื้อที่มีมานาน มีลักษณะเป็นท่าประกอบอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น การเกี่ยวข้าว 3) ฟ้อนยอง 750 ปี เมืองเชียงราย เป็นการฟ้อนเพื่อเฉลิมฉลองที่พ่อขุนเม็งรายที่ได้สร้างเมืองเชียงรายมา 750 ปี ชมโชว์แล้วใครอยากลุกขึ้นต๊ะต่อนยอนกันเบาๆ ก็ไม่ขัดค่ะ ^^ แต่สำหรับค่ำคืนนี้พวกเราอิ่มกับอาหารอร่อยๆ และการแสดงดีๆ ก่อนไปเข้านอน สำหรับค่ำคืนนี้ ราตรีสวัสดิ์ค่ะ ZZZzzzz….


เช้าวันใหม่กับการท่องบ้านสันทางหลวง หนึ่งในเส้นทางดีๆ ที่ทำให้บ้านสันทางหลวงเดินมาถึงการทำท่องเที่ยวได้ก็ด้วยเพราะการปลูกผักนี่เอง ด้วยโครงการ “ซอยนี้มีรัก ปลูกผักแบ่งปัน” ที่ตั้งขึ้นด้วยจุดประสงค์เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและตาย จากการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารเคมี แม่หลวงสังเวียนจึงจัดโครงการดังกล่าวขึ้น โดยให้แต่ละบ้านปลูกผักไว้รับประทานเอง พร้อมทั้งมีแปลงผักกองกลางของหมู่บ้านที่เคยเป็นสนามฟุตบอลของโรงเรียนเก่าขนาด 7 ไร่ ก็ให้คนในชุมชนเข้ามาใช้สอยพื้นที่ได้อย่างเกิดประโยชน์ ได้ผักสำหรับทำอาหารให้กับผู้มาเยือน โดยผักที่ปลูกทั้งหมดนี้เป็นผักปลอดสารพิษ จึงปลอดภัยสำหรับทุกๆ ชีวิตที่ได้ลิ้มลอง โครงการนี้จึงเป็นการรวมตัวกันซ่องสุมกะการดีทำเกษตรปลอดภัยทุกบ้าน จนผักขาดตลาดเพราะเป็นที่ต้องการจำนวนมาก และทำให้คนที่นี่ลดปริมาณการเจ็บป่วยและตายลดลง แม้จะดูว่าเป็นวิถีเรียบง่าย แต่นี่ก็เป็นการสร้างกำไรทั้งสุขภาพ ธรรมชาติ และเศรษฐกิจ

เราเดินต่อภายในบริเวณโรงเรียนเก่ามาอยู่อีกจุดหนึ่ง ก็คือโรงทอผ้า ที่นี่มีกี่จำนวน 20 หลัง ใช้สำหรับทอผ้าเพื่อเป็นสินค้าส่งขายทั้งในชุมชนและต่างจังหวัด ทั้งมีการปักเย็บลวดลายด้วยมือ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยอง รวมถึงสินค้าทำจากผ้า เช่น กระเป๋าสะพาย หนึ่งในเครื่องแต่งกายของคนไทยอง

จากนั้นเราเดินทางต่อกันที่บ้านใหม่ หมู่ 1 ตำบลจันจว้าใต้ มาชมการสาธิตของกลุ่มไม้กวาดแข็งและไม้กวาดดอกหญ้า ที่บ้านใหม่แห่งนี้รวมตัวกันทำไม้กวาดทั้งสองชนิดเพื่อส่งขายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แต่ละครัวเรือนแบบอยู่ได้เก็บดี ซึ่งหากท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์สามารถสั่งผลิตได้ที่ โทรศัพท์ 081-9982590

จากนั้นเราเดินทางต่อกันที่ร้านแคบหมู “บัวตอง” ไปดูกรรมวิธีทำแคบหมู น้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่วอร่อยๆ กันที่ร้านขึ้นชื่อของตำบลจันจว้าใต้ หมู่ 3 เพื่อเลือกซื้อสินค้าเป็นของฝากแห่งการมาเยือนภาคเหนือ ท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อได้ที่ โทรศัพท์ 089-9516271, 086-4202084

การเดินทางของเรายังไม่จบเพียงเท่านี้ การมาบ้านสันทางหลวงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ กราบขอพรพระเจ้า 5 พระองค์กันที่วัดป่ากุ๊ก หมู่ 8 กราบสักการะพระธาตุศรีสองเวียง ที่วัดกิ่วพร้าว หมู่ 4 ชมศูนย์วัฒนธรรมภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นต้น

แม้ช่วงเวลาดีๆ จะหมดลง แต่การมาเยือนบ้านสันทางหลวงในครั้งนี้ พวกเราก็ได้สัมผัสกับมิตรไมตรีที่มอบมาให้ จากการต้อนรับอย่างอบอุ่นของลุงป้าน้าอา ทำให้เราพลอยคิดไปว่าพวกท่านเสมือนญาติผู้ใหญ่ได้อย่างสนิทใจ อีกทั้งความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่ดูแลช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ทำให้พวกเขารอดพ้นจากภาวะวิกฤติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งชุมชนยังรู้จักที่จะแบ่งสันปันส่วนพื้นที่เพื่อทำกินอย่างก่อเกิดประโยชน์สูงสุด จนการทำเกษตรแบบพื้นๆ ทำให้พวกเขามีความสุข สุขด้วยน้ำใจที่มีให้กัน สุขจากการแบ่งปัน สุขเพราะนั่นคือเนื้อแท้ที่พวกเขามอบมาจากหัวใจ เพราะนั่นคือ วิถีทองของคนไทยอง ณ บ้านสันทางหลวง

การเดินทาง : ขับรถไปตามถนนพหลโยธิน หมายเลข 1 ถึงอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และตามถนนเส้น 1016 สังเกตหลักกิโลเมตรที่ 12 ให้เลี้ยวไปที่ทางเชียงแสน เลยมาอีกนิด จะพบกับเทศบาลตำบลจันจว้า ให้เลี้ยวเข้าซอยโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 86 สังเกตป้ายมาหมู่บ้านสันทางหลวง
ท่านใดที่สนใจจะไปเที่ยวกับบ้านสันทางหลวง สามารถติดต่อได้ที่
แม่หลวงสังเวียน ปรารมภ์ โทรศัพท์ 086-9225679
บ้านสันทางหลวง หมู่ 12 ตำบลจันจว้าใต้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย